Accessibility Tools

ศาลแขวงดุสิต

Dusit Kwaeng Court

 

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลแขวงดุสิต

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

  

ประวัติศาลแขวงดุสิต

ความเป็นมาของการจัดตั้งศาลแขวงดุสิต ตามแผนพัฒนาศาลและกระทรวงยุติธรรม ฉบับที่ 1 (2525-2529) กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำโครงการปรับปรุงงานศาลแขวงในกรุงเทพมหานคร และได้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าว โดยก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลแขวงพระนครเหนือและศาลแขวงพระนครใต้ จัดตั้งสาขาของศาลแขวงพระนครใต้ที่เขตพระโขนง และจัดตั้งสาขาของศาลแขวงธนบุรีที่เขตตลิ่งชันซึ่งเป็นผลให้การทำงานและการบริหารงานของศาลแขวงในกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาลแขวงมากขึ้น สำหรับในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือ กระทรวงยุติธรรมมีโครงการจะจัดตั้งสาขาเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ ที่เขตดุสิต และเขตพญาไท หรือ ณ สถานที่อื่นที่เหมาะสม
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2529 ศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำสั่งที่ 7/2529 เรื่องกำหนดการนั่งพิจารณาของศาลแขวงพระนครเหนือ ณ.อาคารด้านหลังที่ทำการศาลภาษีอากรกลาง ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้มีการนั่งพิจารณาของศาลแขวงพระนครเหนือ ณ.อาคารด้านหลังที่ทำการศาลภาษีอากรกลาง เลขที่ 227 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อีกแห่งหนึ่ง เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของสถานีตำรวจนครบาลดุสิต สถานีตำรวจนครบาลสามเสน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ และสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง
ซึ่งผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน รวมทั้งทำการไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องขอรับเงินสินบนนำจับในคดีดังกล่าวกับคำร้องขอผัดฟ้องฝากขังและปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนเหล่านั้นด้วย ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไป
จากนั้น กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงพระโขนง ศาลแขวงดุสิต และศาลแขวงตลิ่งชัน พ.ศ. …. เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาศาลและกระทรวงยุติธรรม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2530 - 2534 ดังกล่าวข้างต้น ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเห็นว่า ศาลแขวงเดิมในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงธนบุรี ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงสำหรับจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พุทธศักราช 2478 ได้กลายสภาพเป็นศาลแขวงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจหรือเปิดทำการศาลแขวงแห่งใหม่ สามารถกระทำได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงยกร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงธนบุรี กับกำหนดอำนาจและวันเปิดทำการของศาลแขวงพระโขนง ศาลแขวงดุสิต และศาลแขวงตลิ่งชัน ในกรุงเทพมหานคร (7 สิงหาคม 2532) พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวมีหลักการในการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงธนบุรี กับกำหนดเขตอำนาจและวันเปิดทำการของศาลแขวงพระโขนง ศาลแขวงดุสิต และศาลแขวงตลิ่งชันในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้มีเหตุผลอันสืบเนื่องมาจากโดยที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากขึ้น และมีคดีความเข้ามาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงธนบุรี ซึ่งเป็นศาลแขวงที่มีอยู่แล้วในรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการคมนาคมในกรุงเทพมหานครไม่คล่องตัว ทำให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีและผู้เกี่ยวข้องไม่ได้รับความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางไปติดต่อกับศาลแขวงดังกล่าว สมควรจัดตั้งศาลแขวงพระโขนง ศาลแขวงดุสิต และศาลแขวงตลิ่งชันเพิ่มขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเขตอำนาจบางส่วนของศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงธนบุรี ไปเป็นเขตอำนาจของศาลแขวงที่จะจัดตั้งใหม่ และให้เปิดทำการได้ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2532 และในการนี้สมควรเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงพระนครเหนือ และศาลแขวงธนบุรีให้สอดคล้องกัน โดยให้ศาลแขวงพระนครเหนือมีเขตอำนาจในเขตดุสิตเฉพาะในแขวงบางซื่อ เขตบางกะปิ เขตบางเขน และเขตห้วยขวาง และให้ศาลแขวงดุสิต มีเขตอำนาจในเขตดุสิต นอกจากแขวงบางซื่อ เขตป้องปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท และเขตพระนคร (ปัจจุบันมีการเพิ่มเขตราชเทวี อีก 1 เขต) ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 106 ตอนที่ 93 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2532 แล้ว และมีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ที่ตั้งของศาลแขวงดุสิตในปัจจุบัน อยู่ที่ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีบัลลังก์ จำนวน 10 บัลลังก์